ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สาขาพลังงานของเวียดนามมีพลวัตและพัฒนาการที่สำคัญหลายประการ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MOIT) ได้ส่งข้อเสนอฉบับปรับปรุงสำหรับร่างแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (PDP8) ระยะเวลาระหว่างปี 2564-2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 ต่อนายกรัฐมนตรีเวียดนาม โดยเมื่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เปิดเผยรายงานตรวจสอบภายในของ MOIT โดยเมื่อต้นเดือนตุลาคม MOIT ได้ออกหนังสือเวียน เลขที่ 15/2022/TT-BCT (Circular 15) เกี่ยวกับควบคุมการคำนวณของอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565
หนังสือเวียนดังกล่าวระบุว่า โครงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional power plant) ประกอบด้วย
- โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟ (Power Purchase Agreement: PPA) ที่ดำเนินการผ่านการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ก่อนเดือนมกราคม 2564 แต่ยังไม่สามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ทันที่จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in-Tariff: FiT)
- โครงการไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้สัญญาซื้อขายไฟ (Power Purchase Agreement: PPA) ที่ดำเนินการผ่านการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่ยังไม่สามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ทันที่จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in-Tariff: FiT)
ทั้งนี้ เอกสาร Circular 15 ข้างต้นไม่ได้ระบุถึงกรณีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop)
นอกจากนี้ หนังสือเวียนข้างต้นยังระบุว่า ขอบเขตอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าฯ เป็นช่วงระหว่างค่าตั้งที่ต่ำสุด 0 VND/kWh ถึงอัตราค่าไฟฟ้าเพดาน หรืออัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละประเภทโรงไฟฟ้า จึงถูกกำหนดเป็น VND และจะไม่ถูกปรับด้วยความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยโรงไฟฟ้ามาตรฐานซึ่งถูกกำหนดให้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 50MWp สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ 50MW สำหรับพลังงานลมจะถูกใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการคำนวณอัตราเพดานค่าไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท อนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทซื้อขายไฟฟ้า EPTC ภายใต้ EVN ได้ส่งคำขอไปยังนักลงทุนโครงการ 293 รายที่ลงนาม PPA กับ EVN เพื่อขอข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการคำนวณช่วงอัตราค่าไฟฟ้าแล้ว
ทั้งนี้ ร่างแผน PDP 8 ที่เสนอไม่มีเจตจำนงที่จะเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ใหม่จนถึงปี 2573 นอกจากนี้ มี 6 โครงการที่มีกำลังการผลิต 452.6MW ที่ดำเนินการก่อเสร็จสิ้นแล้วแต่ยังรอระบบอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ และมี 5 โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งกำลังการผลิต 273.4MW ที่หวังจะได้เปิดดำเนินการก่อนปี 2573 ในขณะเดียวกัน โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อก่อนปี 2573 หรือถูกยกเลิก ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 12 โครงการที่มีกำลังการผลิต 1,634MW ที่ได้รับอนุมัติการลงทุนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการหรือได้รับอนุมัติสัญญาเช่าที่ดิน โครงการฯ จำนวน 27 โครงการที่มีกำลังการผลิต 4,136MW ซึ่งยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ลงทุน และอีก 3 โครงการด้วยกำลังการผลิต 60MW ที่นักลงทุนได้ถอนออกอย่างเป็นทางการ
ในส่วนของ Solar Rooftop ณ สิ้นปี 2563 เวียดนามมีกำลังการผลิต Solar Rooftop ที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ทั้งหมด 7,755MW โดยตามร่างแผน PDP8 บริษัทและปัจเจกบุคคลได้รับการส่งเสริมให้พัฒนา Solar Rooftop เพื่อการบริโภคเองเท่านั้น แต่ไม่ให้ขายให้โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ (national grid) ดังนั้น ร่างแผน PDP8 จึงระบุว่า EVN จะไม่ซื้อไฟฟ้าจาก Solar Rooftop อีกต่อไป โดยกำลังการผลิตขอ Solar Rooftop จะยังคงอยู่ที่ระดับเดิมที่ 7,755MW จนถึงอย่างน้อยปี 2573
ในขณะเดียวกัน ร่างแผน PDP8 ได้ระบุว่า พลังงานลมจะได้รับความสำคัญเป็นลำดับต้นและจะมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 4,126MW (จากกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 8,171MW สำหรับโครงการพลังงานลมที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ EVN) เป็น 21,480MW สำหรับโครงการพลังงานลมบนบก (onshore wind) และ 7,000MW สำหรับโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง (offshore wind)
สำหรับการลงทุนในก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ร่างแผน PDP8 ระบุให้เพิ่มเพียง 5 โครงการใหม่ที่มีกำลังการผลิตรวม 6,600MW ซึ่งโครงการทั้งหมดตั้งอยู่ทางภาคเหนือของเวียดนาม โดยรวมถึงโครงการ LNG ที่แปลงจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจำนวน 3 โครงการที่มีกำลังการผลิตรวม 3,600MW ด้วย ดังนั้น กำลังการผลิตรวมของการผลิต LNG ที่นำเข้าภายในปี 2573 จะถูกกำหนดไว้ที่ 24,500MW
บทความแปลจาก Vietnam Investment Review (VIR) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565
https://vir.com.vn/vietnams-further-evolving-regulations-and-policies-on-energy-98042.html