ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงพยายามรักษาข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมกุ้ง

POST ON 11 สิงหาคม 2021

ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงพยายามรักษาข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมกุ้ง

ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและส่งออกกุ้งของเวียดนาม และเป็นที่ตั้งของกิจการแปรรูปอาหารทะเลจำนวนมาก ซึ่งยังคงพยายามดำเนินงานเพื่อส่งออกสินค้าตามการสั่งซื้อให้ทันเวลา ควบคู่ไปกับการสร้างงานและรักษาเสถียรภาพการบริโภคกุ้งดิบ แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

การจัดหาสถานที่สำหรับลูกจ้างพักอาศัยที่โรงแรม

นาย Nguyen Thanh Phuong หัวหน้ากรมเศรษฐกิจเมืองก่าเมา จังหวัดก่าเมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีบริษัทแปรรูปกุ้งมากที่สุดในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ให้ข้อมูลว่า บริษัท 14 แห่ง ซึ่งมีลูกจ้างรวมกว่า 6,000 คนได้ขออนุมัติเพื่อดำเนินการผลิตตามหลักการ “three-on-site” (ทำงาน กักตัว และอาศัยอยู่) เช่น บริษัท Minh Phu Seafood Group มีลูกจ้าง 1,950 คน ได้เช่าโรงแรม 6 แห่งและโรงเรียนอนุบาลหลายแห่งในเมือง เพื่อให้ลูกจ้างเข้าพักอาศัย เป็นต้น ในขณะที่บริษัทหลายแห่งมีสวัสดิการให้ลูกจ้าง อาทิ ค่าอาหารสามมื้อต่อวัน และเงินช่วยเหลือ 5 หมื่นด่งต่อวันต่อคน

ในขณะที่ นาย Phan Van Sau ผู้อำนวยการกรมอุตสาหกรรมและการค้าจังหวัดบักเลียว ให้ข้อมูลว่า การจัดให้ลูกจ้างพักที่โรงงานมีความยากลำบากเนื่องจากกิจการแปรรูปอาหารทะเลมีลักษณะการใช้แรงงานเข้มข้น อย่างไรก็ดี โดยที่จังหวัดสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี จังหวัดจึงเอื้ออำนวยให้ธุรกิจดำเนินงานผลิตได้โดยบริษัทจะต้องจัดเรียงการผลิตใหม่และมีมาตรการป้องกันโรคระบาด เช่น การลดจำนวนแรงงานไม่เกิน 300 คนต่อกะ การประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานท้องถิ่นในการบริหารจัดการแรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ หากการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น กรมฯ จะพิจารณาระงับการดำเนินงานของโรงงานที่ไม่สามารถรับรองความปลอดภัยได้

การเพิ่มกำลังการแปรรูปเพื่อการส่งออก

กรมเกษตรและการพัฒนาชนบทของหลายจังหวัดในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงให้ข้อมูลว่า ราคากุ้งดิบมีความผันผวนในช่วงการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม กุ้งขาวมีราคาเพิ่มขึ้น 1,000-8,000 ด่งต่อกิโลกรัม (ประมาณ 1.45 – 11.65 บาท ในขณะที่ราคากุ้งกุลาดำยังคงทรงตัว แต่ต่อมาเมื่อจังหวัดต่าง ๆ ขยายระยะเวลาการเว้นระยะห่างทางสังคมตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมก็ส่งผลให้ราคากุ้งลดลง โดยกุ้งกุลาดำขนาด 20 ตัวต่อกิโลกรัม มีราคา 210,000 ด่งต่อกิโลกรัม (ประมาณ 305 บาท) กุ้งขาวขนาด 30 ตัวต่อกิโลกรัม มีราคา 131,000 ด่งต่อกิโลกรัม (ประมาณ 191 บาท)  และขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม มีราคา 77,000 ด่งต่อกิโลกรัม (ประมาณ 112.30 บาท) ลดลง 5,000-10,000 ด่งต่อกิโลกรัม (ประมาณ 7.25 – 14.50 บาท) ขึ้นอยู่กับชนิด

ผู้อำนวยการบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปแห่งหนึ่งในจังหวัดซ็อกจังวิเคราะห์ว่า ปริมาณการบริโภคกุ้งดิบได้รับผลกระทบจากความยากลำบากในการเดินทางในช่วงเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลต่อการเพาะพันธุ์ การค้า และการขนส่งกุ้ง รวมถึงการที่โรงงานแปรรูปกุ้งมีการลดจำนวนลูกจ้าง และลดปริมาณการผลิต และการที่มีตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากติดค้างที่ท่าเรือและจุดตรวจ

ทั้งนี้ แม้ว่าราคากุ้งดิบจะมีความผันผวนแต่การส่งออกกุ้งยังคงอยู่ในเชิงบวก โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามพบว่า ในเดือนกรกฎาคม 2564 มีปริมาณการส่งออกกุ้งจำนวน 5 หมื่นตัน มูลค่า 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 และ 22 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 มีการส่งออกกุ้งอยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนตัน มูลค่า 2.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 และ 16 ตามลำดับ โดยการส่งออกกุ้งเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย มีการเติบโตที่ดี ในขณะที่การส่งออกกุ้งไปยังตลาดจีนลดลง รวมถึงตลาดเกาหลีใต้ที่มีปริมาณลดลงเล็กน้อยแต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามประเมินว่า ความต้องการนำเข้ากุ้งทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดขนาดใหญ่และตลาดแบบดั้งเดิม ในขณะที่อุปทานกุ้งจากประเทศผู้ผลิตบางประเทศลดลงเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ อินเดีย และอินโดนีเซีย จึงคาดการณ์ว่าการส่งออกกุ้งของเวียดนามจะมีการขยายตัว เป็นผลจากข้อได้เปรียบหลายประการจากความตกลงเขตการค้าเสรีต่าง ๆ (FTAs) และความมีเสถียรภาพด้านการเกษตร

นอกจากนี้ กรมอุตสาหกรรมและการค้าของหลายจังหวัดในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงก็คาดว่า การส่งออกกุ้งในช่วงหลังของปี 2564 จะอยู่ในเกณฑ์บวกเนื่องจากยังมีใบสั่งซื้อที่ลงนามแล้วอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม กิจการแปรรูปกุ้งยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหลายประการ อาทิ อัตราค่าระวางสินค้าที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือเดินทะเล ซึ่งปัญหาเหล่านี้ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา SGGP วันที่ 7 สิงหาคม 2564
https://sggpnews.org.vn/business/mekong-delta-provinces-strive-to-maintain-advantage-of-shrimp-industry-93887.html

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูข่าวทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

0

กำลังเข้าชมขณะนี้

184722

เข้าชมทั้งหมด