
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมเวียดนามได้จัดการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ปลูกข้าวคุณภาพสูงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ บนพื้นที่เป้าหมาย 1 ล้านเฮกตาร์ ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ภายในปี 2573 โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้นำร่อง 7 โมเดลการผลิตข้าวคุณภาพสูงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเกียนซาง จังหวัดซ๊อกจัง จังหวัดจ่าวิญ จังหวัดด่งท้าป และนครเกิ่นเทอ ซึ่งมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ (1) ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 8.2-24.2 (2) เพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 2.4-7 (3) เพิ่มผลกำไรให้เกษตรกรได้ 4-7.6 ล้านด่ง (150-270 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเฮกตาร์ และ (4) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เฉลี่ย 2-12 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเฮกตาร์
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมเวียดนามได้เรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นของจังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงดำเนินโครงการข้างต้นอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ ความล่าช้าในการดำเนินงานในบางพื้นที่ ความเชื่อมโยงการผลิตที่อ่อนแอ การพึ่งพาการสนับสนุนภายนอกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และความล่าช้าในการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (WB) และกองทุน Transformative Carbon Asset Facility (TCAF) เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย
ในการประชุมข้างต้น หน่วยงานท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญได้เสนอแนวทางหลายประการเพื่อขยายและปรับปรุงประสิทธิผลของโครงการฯ ในปี 2568 ดังนี้
1. ส่งเสริมบทบาทของสหกรณ์ในการบริหารจัดการการผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์
2. พัฒนาตลาดสำหรับข้าวคุณภาพสูง
3. ส่งเสริมการสร้าง Brand สินค้าข้าวของเวียดนาม
4. เสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจ สหกรณ์ และเกษตรกร
อนึ่ง กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อมเวียดนามได้กำชับให้ 12 จังหวัดในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เข้าร่วมโครงการฯ (ยกเว้นจังหวัดเบ็นแจ) ดำเนินการตามเป้าหมายให้มีพื้นที่การเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำให้ได้ 312,743 เฮกตาร์ภายในปี 2568
* * * * *
ที่มา: สำนักข่าว Vietnam News เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568