
ในช่วงที่ผ่านมา นครดานังได้ดำเนินการพัฒนาและปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมในหลายมิติเพื่อพัฒนาการเกษตรโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง[1] รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาสาขาที่สำคัญเพื่อรองรับการพัฒนาและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน[2]
ทั้งนี้ โครงสร้างภาคการเกษตรของนครดานังแบ่งออกเป็น (1) การประมง ร้อยละ 67.41 (2) เกษตรกรรม ร้อยละ 25.85 และ (3) ป่าไม้ ร้อยละ 6.74 โดยในช่วงปี 2563-2565 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 1.73 นอกจากนี้ นครดานังยังสามารถบรรลุการพัฒนาพื้นที่ชนบทในนครฯ เป็นชนบทรูปแบบใหม่ (new-style rural areas) ตามมาตรฐานการพัฒนาชนบทของรัฐบาลเวียดนาม โดยในปี 2565 มี 5 จาก 11 ตำบลที่สามารถบรรลุมาตรฐานชนบทใหม่ในระดับสูง (advanced new-style rural areas) รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ One Commune One Product (OCOP) มากถึง 64 รายการ
กรมวิชาการเกษตรและการพัฒนาชนบทของนครดานังให้ข้อมูลว่า นครดานังจะส่งเสริมการพัฒนา 3 ด้านหลักอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1. การเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และเกษตรอินทรีย์ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ การผลิตผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ได้รับการรับรอง VietGAP การพัฒนาพื้นที่การปลูกผักและพืชไม้ประดับ การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการบูรณาการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกับผลิตภัณฑ์ OCOP
2. การพัฒนาประมงนอกชายฝั่งควบคู่กับบริการโลจิสติกส์การประมง โดยเน้นการปกป้องอำนาจอธิปไตยในทะเลและหมู่เกาะ ส่งเสริมประมงนอกชายฝั่งมากขึ้น และพัฒนาการประมงสมัยใหม่ โดยปัจจุบัน นครดานังมีเรือประมงจำนวน 1,241 ลำ มีการติดตั้งระบบการสื่อสารระหว่างเรือกับเรือ และระหว่างเรือกับชายฝั่ง โดยข้อมูลต่าง ๆ ของเรือทั้งหมดในนครฯ ได้ถูกเพิ่มเข้าไประบบฐานข้อมูลการประมงแห่งชาติ Vnfishbase ตลอดจนได้ดำเนินโครงการยกระดับท่าเรือประมง Tho Quang ระยะแรกเสร็จแล้ว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการประมงระดับภูมิภาค
3. การคุ้มครองและพัฒนาป่าไม้ควบคู่กับการปลูกป่าไม้ขนาดใหญ่ โดยนครดานังได้ดำเนินการจัดการและคุ้มครองพื้นที่ป่าที่มีอยู่กว่า 63,044 เฮกตาร์ และในช่วงปลายปี 2565 มีสัดส่วนพื้นที่ป่าที่ร้อยละ 45.5 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ (ร้อยละ 42.02) นอกจากนี้ นครฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลผลิตและคุณภาพของป่าไม้ การมีนโยบายคุ้มครองป่าไม้โดยการส่งเสริมการปลูกป่าสำหรับการใช้งานโดยเฉพาะ
[1] ตามหนังสือเลขที่ 42-CTr/TU ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 ของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครดานัง ว่าด้วยการส่งเสริมการปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตแบบเข้มข้นและมีขนาดใหญ่ ควบคู่กับการสร้างพื้นที่ชนบทใหม่ และหนังสือเลขที่ 2585/KH-UBND ลงวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 2020 ของคณะกรรมการประชาชนนครดานัง ว่าด้วยการดำเนินตามหนังสือเลขที่ 42-CTr/TU
[2] ตามมติหมายเลข 43-NQ/TW ลงวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 2019 ของกรมการเมือง ว่าด้วยแผนการพัฒนานครดานังจนถึงปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2588