ไทยกับเวียดนาม

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๙ (มีกำหนดครบรอบ ๔๕ ปีในปี ๒๕๖๔) ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคภายหลังสงครามเย็น การเจรจาซึ่งนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเป็นก้าวแรก และเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเวียดนามในภายหลัง นอกจากนี้ มาตรการอื่น ๆ ของไทย อาทิ นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” และนโยบายให้สัญชาติแก่บุตรหลานชาวเวียดนามโพ้นทะเลในไทย ตลอดจนการให้การยอมรับทางกฎหมายและทางสังคมได้มีส่วนสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ 
ความสัมพันธ์ไทย – เวียดนามอยู่ในระดับที่ดีและมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน โดยทั้งสองประเทศได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างกันเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๖ และได้มีการลงนามในแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย – เวียดนาม (ปี ๒๕๕๗ – ๒๕๖๑)   เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – เวียดนาม ครั้งที่ ๓ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒ ทั้งสองฝ่ายได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง (Strengthened Strategic Partnership) และเห็นพ้องที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการระยะที่ ๒ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างปี ๒๕๖๓ – ๒๕๖๘

๑.๑ การเมืองและความมั่นคง

ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามในด้านการเมืองและความมั่นคงอยู่ในระดับดี ผู้นำของทั้งสองประเทศมีโอกาสพบหารือกันในหลายโอกาส และนายกรัฐมนตรีมีความคุ้นเคยกับผู้นำของเวียดนาม โดยนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ เพื่อหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับแนวทางกระชับความร่วมมือรอบด้าน นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้พบกันบ่อยครั้งในการประชุมระดับพหุภาคีต่าง ๆ โดยล่าสุด นายเหวียน ซวน ฟุก ได้เดินทางเยือนไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๕ ที่กรุงเทพฯ
สำหรับนางดั่ง ถิ หง็อก ถิง (Dang Thi Ngoc Thinh) รองประธานาธิบดีเวียดนาม ได้เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ 
ไทยและเวียดนามมีกลไกการดำเนินความสัมพันธ์ที่สำคัญในหลายระดับ ได้แก่ (๑) การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat – JCR) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเป็นประธาน โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม              ครั้งที่ ๓ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ (๒) การหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ (Foreign Ministers’ Retreat – FMR) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสองฝ่ายเป็นประธาน และไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ ๓ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒ และ         (๓) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – เวียดนาม (Joint Commission on Bilateral Cooperation – JCBC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสองฝ่ายเป็นประธาน และไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ ๓ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒
ในด้านความมั่นคง กองทัพของทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด    โดยเฉพาะด้านการศึกษาอบรม การฝึกซ้อม และการลาดตระเวนร่วมทางทะเล ซึ่งช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (Joint Working Group on Political and Security Cooperation – JWG on PSC) ครั้งที่ ๑๑ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนามเป็นประธานร่วม 

. การค้า 

  ไทยกับเวียดนามมีกลไกความร่วมมือด้านการค้าที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee – JTC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามเป็นประธานร่วม โดยเวียดนามเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ ๓ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็น ๒๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ๒๕๖๓
เวียดนามเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อไทย เนื่องจากเป็นตลาด ขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๕ ของไทยในโลกและเป็นอันดับที่ ๒ ของไทยในกลุ่มอาเซียน ซึ่งในระยะ ๕ ปี ที่ผ่านมา (๒๕๕๘ – ๒๕๖๒) การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ ๑๕,๙๑๕.๖๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๗.๙๑ ต่อปี โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปเวียดนามที่สำคัญ ได้แก่ (๑) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (๒) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (๓) เม็ดพลาสติก (๔) เคมีภัณฑ์ (๕) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (๖) น้ำมันสำเร็จรูป (๗) เครื่องดื่ม (๘) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักร (๙) ผลิตภัณฑ์ยาง และ (๑๐) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ในปี ๒๕๖๒ มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกันไทยกับเวียดนามมีจำนวน ๑๗,๕๗๑.๑๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี ๒๕๖๑ ร้อยละ ๕.๘๒ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า ๖,๖๕๙.๔๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสาเหตุที่มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศลดลงในปี ๒๕๖๒ เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ควบคู่กับการที่เวียดนามเริ่มสามารถกลั่นน้ำมันได้เองภายในประเทศ จึงทำให้ไม่ต้องส่งน้ำมันดิบมากลั่นที่ไทย  และทำให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันที่กลั่นแล้วกลับไปยังเวียดนามลดลง

  ๑.๓ การลงทุน

เวียดนามได้กลายเป็นฐานการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญของภูมิภาค เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านทรัพยากร แรงงาน ตลาดผู้บริโภค รวมถึงมีนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ อีกทั้งมีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับหลากหลายประเทศ โดยสถานะ ณ เมษายน ๒๕๖๓ ไทยเป็นผู้ลงทุนต่างชาติอันดับ ๙ ในเวียดนาม มีโครงการทั้งหมด ๕๖๗ โครงการ มูลค่าการลงทุนสะสม รวม ๑๒,๓๐๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาขาการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูป การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยนักลงทุนรายใหญ่ของไทยในเวียดนาม เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือ SCG กลุ่มอมตะ บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ บริษัทบีทาเก้น บริษัทเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง บริษัทไทยนครพัฒนา บริษัททีโอเอ บริษัทไทยซัมมิท บริษัทสยามสตีล ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ 

๑.๔ ความร่วมมือด้านแรงงาน

เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ ไทยและเวียดนามได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างไทย – เวียดนาม และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านแรงงานระหว่างกัน โดยอนุญาตให้นำเข้าแรงงานเวียดนาม             อย่างถูกกฎหมายมายังไทยในสาขากิจการประมงและก่อสร้างซึ่งไทยขาดแคลน อย่างไรก็ตามมีแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานในไทยในสาขาดังกล่าวค่อนข้างน้อย และยังมีปัญหาเรื่องแรงงานเวียดนามที่เข้ามาไทยอย่างผิดกฎหมาย 

๑.๕ การท่องเที่ยว

ปี ๒๕๖๒ มีชาวเวียดนามเดินทางมาประเทศไทย ๑,๐๔๗,๖๒๙ คน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๘๙ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ ที่มีจำนวน ๑,๐๒๘,๑๕๐ คน ขณะที่ชาวไทยเดินทางไปเวียดนาม ๕๐๙,๘๐๒ คน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๘.๕๒ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ ที่มีจำนวน ๓๔๙,๓๑๐ คน ก่อนที่การเดินทางระหว่างประเทศจะถูกระงับไปเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ไทยและเวียดนามมีเที่ยวบินระหว่างกัน ๒๙๘ เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สามารถจุผู้โดยสารได้รวม ๔,๘๓๙ คนต่อวัน หรือ ๕๐,๙๗๖ คนต่อสัปดาห์

๑.๖ สังคมและวัฒนธรรม

  ไทยและเวียดนามมีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ โดยปัจจุบันมีการประเมินว่าน่าจะมีชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม (เวียดเกี่ยว หรือ เกี่ยวบ่าว) จำนวนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนในหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และได้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยซึ่งกลุ่มชุมชนไทยเชื้อสายเวียดนามยังคงนิยมรวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ตามประเพณีเวียดนาม ช่วงปี ๒๔๙๐ ไทยเคยเป็นที่พำนักและให้ความช่วยเหลือสนับสนุนประธานาธิบดีโฮจิมินห์และขบวนการกอบกู้เอกราชของเวียดนามจากฝรั่งเศส และด้วยความสัมพันธ์ดังกล่าว จึงได้มีการก่อตั้งหมู่บ้านมิตรภาพไทย – เวียดนาม อนุสรณ์สถานและรูปปั้นเพื่อระลึกถึงประธานาธิบดีโฮจิมินห์ในหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งผู้นำระดับสูงของเวียดนามได้ไปเยือนและสักการะทุกครั้งที่เดินทางเยือนไทย
อนุสรณ์สถานประธานาธิบดีโฮจิมินห์ที่จังหวัดนครพนมมีความสำคัญมาก เนื่องจากบ้านนาจอก จังหวัดนครพนมเป็นที่พำนักซึ่งประธานาธิบดีโฮจิมินห์ใช้วางแผนการต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชเวียดนาม โดยอนุสรณ์สถานดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนการก่อสร้างประมาณ ๔๕ ล้านบาทจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและรัฐบาลเวียดนาม และได้มีพิธีเปิดอนุสรณ์สถานนี้อย่างเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๕๙ โดยนายเหวียน วัน เน็น (Nguyen Van Nen) ประธานสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ทั้งนี้ ในพิธีเปิด ฝ่ายเวียดนามได้นำปลาที่เป็นลูกหลานของปลาที่ประธานาธิบดีโฮจิมินห์เคยเลี้ยงไว้ที่บ้านพักที่กรุงฮานอยมาทำพิธีปล่อยลงในบ่อน้ำที่อนุสรณ์สถาน เพื่อแสดงในเชิงสัญลักษณ์ว่าลูกหลานประธานาธิบดีโฮจิมินห์หรือชาวไทยเชื้อสายเวียดนามได้มาอาศัยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศไทย โดยล่าสุด มีการเปิดพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ ณ จังหวัดพิจิตร เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๑ 
ปัจจุบัน มีชาวเวียดนามพำนักในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ คน ขณะเดียวกัน มีคนไทยในเวียดนามประมาณ ๑,๕๐๐ คน โดยพำนักอยู่ในกรุงฮานอยและจังหวัดใกล้เคียงประมาณ ๕๐๐ คน พำนักอยู่ในนครโฮจิมินห์และจังหวัดใกล้เคียงประมาณ ๑,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนักธุรกิจ พนักงานบริษัท และแม่บ้าน
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง (sister cities) กับเวียดนาม จำนวน ๑๖ คู่ (๑๒ จังหวัด) โดยเป็นอันดับสองรองจากจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับไทยมากที่สุด (๔๒ คู่)

. ความตกลงที่สำคัญ 

ไทยกับเวียดนามมีความตกลง/บันทึกความเข้าใจที่ลงนามแล้วมากกว่า ๖๐ ฉบับ ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในทุกสาขา อาทิ ความมั่นคง อาญา การค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยง การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการศึกษา ตัวอย่างความตกลงสำคัญที่สองฝ่ายได้ลงนามแล้ว มีดังนี้

– ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๔)
– ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๕)
– หนังสือแลกเปลี่ยนการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับสูงไทย – เวียดนามว่าด้วยการแก้ไขปัญหาประมงและระเบียบทางทะเล (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๘)
– ความตกลงระหว่างกระทรวงการคลังแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการคลังแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยคณะอนุกรรมการร่วมด้านการคลังไทย – เวียดนาม (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๘)
– ความตกลงทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (ลงนามเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๙)
– ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๐)
– ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการและการอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางธรรมดา (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๐)
– ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยความร่วมมือด้านกฎหมายและการศาล (ลงนามเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๑)
– ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารตั้งต้น (ลงนามเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๑)
– ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา (ลงนามเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓)
– ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในการดำเนินการขนส่งทางถนนเพื่อการท่องเที่ยว (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐)
– ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีในการขจัดการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก และการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑)
– บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลเเห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยการพัฒนา การฝึกอบรมวิชาชีพในกลุ่มประเทศยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ลงนามเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
– สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยการโอนตัว ผู้ต้องคำพิพากษาเเละความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๓)
– บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๕)
– บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมการชาติพันธุ์แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยกิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๕)
– แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – เวียดนาม (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗)
– แผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย – เวียดนาม (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗)
– ความตกลงด้านการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘)
– บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘)
– ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐)
– บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามกับกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐)
– บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสารนิเทศและการสื่อสารเวียดนามกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม สารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิทัล (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐)
– บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งชาติเวียดนามกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐)

         สถานะ ณ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

2

กำลังเข้าชมขณะนี้

199557

เข้าชมทั้งหมด