จังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่

POST ON 3 พฤษภาคม 2024

จังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง (2) การจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมหลายแห่ง (3) นโยบายการดูแลรักษาพนักงานที่มีประสิทธิภาพ และ (4) การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกต่าง ๆ        

ทั้งนี้พบว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่เข้ามาอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้คนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ได้แก่ สะพาน My Thuan, สะพาน Rach Mieu, สะพาน Can Tho และทางด่วน My Thuan – Can Tho ในขณะที่ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง เช่น ท่าเรือน้ำลึก Tran De, สะพาน Rach Mieu 2, สะพาน Dai Ngai, ทางด่วน Can Tho – Ca Mau, ทางด่วน Chau Doc – Can Tho – Soc Trang, ทางด่วน Cao Lanh – An Huu, และทางด่วน My An – Cao Lanh นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Vinh Thanh – VSIP Can Tho เมื่อเดือนกันยายน 2566 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการนิคมอุตสาหกรรมสำคัญของนครเกิ่นเทอที่พัฒนาตามรูปแบบของอุตสาหกรรมสีเขียว มีระบบควบคุมอัตโนมัติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าหลังจากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะสามารถสร้างงานให้กับคนงานถึง 100,000 คน และดึงดูดเม็ดเงินได้ถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  

ในขณะเดียวกัน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดล็องอานมีการพัฒนาโดดเด่นเช่นกัน โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเกือบร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งอุตสาหกรรมแปรรูปมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 และสามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกล การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และอุตสาหกรรมแปรรูปสำหรับสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่มากขึ้น จังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจะดำเนินตามแนวทาง ดังนี้

1. นครเกิ่นเทอ มีแผนจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมใหม่ 7 แห่ง บนพื้นที่รวมกว่า 6,485 เฮกตาร์ เพื่อบรรลุเป้าหมายให้นครฯ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหลักสำหรับการแปรรูปและถนอมอาหารสำหรับสินค้าอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศ ตลอดจนมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพของทรัพยากรแรงงานในพื้นที่ โดยได้มอบหมายให้อำเภอ Vinh Thanh พัฒนาโครงการฝึกอบรมอาชีพสำหรับแรงงานในท้องถิ่น โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าประชาชนในท้องถิ่นจำนวน 3,000-5,000 คนจะได้รับการฝึกอบรมให้ทำงานในโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม Vinh Thanh – VSIP Can Tho

2. จังหวัดซ้อกจัง จะส่งเสริมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ สามารถจัดตั้งโรงงานในจังหวัดฯ ได้ นอกจากนี้ จังหวัดฯ จะมุ่งเน้นการจัดการและตรวจสอบการดำเนินการด้านความปลอดภัยของอาหารในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการเผยแพร่ข้อมูลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางอุตสาหกรรมไปยังโรงงานผลิตและสถานประกอบการธุรกิจ ในขณะเดียวกันจะอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในด้านต้นทุน ที่ดิน เทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

3.จังหวัดบักเลียว จะปรับปรุงคุณภาพทรัพยากรบุคคลและใช้ประโยชน์แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการส่งออกกุ้ง ก๊าซ ไฟฟ้า และปุ๋ย

ที่มา: Sai Gon News เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567

https://en.sggp.org.vn/new-transformation-of-industries-in-mekong-delta-post109661.html

ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง



ดูข่าวทั้งหมด

THAIBIZ VIETNAM

THAILAND BUSINESS INFORMATION CENTER

ยอดผู้เข้าชม

299

กำลังเข้าชมขณะนี้

317095

เข้าชมทั้งหมด